
วัดชัยชนะสงคราม(วัดตึก) 83 ถ.จักรวรรดิ์ แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร 10100
https://www.facebook.com/watchaichana
ชั้นและที่ตั้งของวัด
วัดชัยชนะสงครามเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เรียกกันทั่วไปว่า "วัดตึก" ตั้งอยู่เลขที่ ๘๓ ด้านหน้าวัดอยู่ติดถนนมหาจักร(คลองถม) ด้านหลังวัดติดถนนจักรวรรดิ์ ตรงข้ามกับเวิ้งนครเกษม ระหว่างสี่แยกวัดตึก (ถนนจักรวรรดิ์ตัดกับเยาวราช) กับสี่แยก เอส.เอ.บี (ถนนจักรวรรดิ์ตัดกับถนนเจริญกรุง) แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
เขตวัด
ลักษณะพื้นที่ของเขตวัด เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีเนื้อที่ทั้งหมด ๗ ไร่ ๑ งาน ๙๒ ตารางวา โฉนดเลขที่ ๓๕๒๘ มีอาณาเขตดังนี้
ทิศตะวันออก ติดกับถนนมหาจักร(คลองถม)
ทิศตะวันตก ติดกับตึกแถวของ พล.ต.อ. พระพินิจชนคดี กับของเจ้าจอมเอี่ยม ถนนจักรวรรดิ์
ทิศเหนือ ติดกับบริษัทดีทแฮล์ม และตึกบ้านพระนานาพิธภาษีถนนเจริญกรุง
ทิศใต้ ติดกับตึกแถวของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีในรัชกาลที่ ๖ ถนนเยาวราช
ฐานะของวัด
จากบ้านเป็นวัดราษฎร์
ที่ตั้งวัดชัยชนะสงครามเดิมเป็นบ้านของเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ ต้นสกุลสิงหเสนี) ที่สมุหายายกและแม่ทัพใหญ่ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
หลักฐานปรากฎว่าในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ เป็นปีที่ ๒ ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ รัชกาลที่ ๓ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานที่และบ้านของเจ้าพระยายมราช(อิน) ซึ่งเป็นบ้านร้างเรือนเดิมฝากระดานให้แก่พระยาราชสุภาวดี (เจ้าพระยาบดินทรเดชา(สิงห์)ในขณะนั้น)
พระยาราชสุภาวดี(สิงห์) ได้ย้ายมาจากบ้านเก่าหน้าวัดสามปลี้ม มาอยู่บ้านใหม่ที่ได้รับพระราชทานยกบ้านเดิมให้แก่นายแก้ว มหาดเล็กหุ้มเพชร บุตรชายซึ่งต่อมาคือเจ้าพระยายมราช (แก้ว) ครั้นเมื่อ พ.ศ. ๒๓๖๙ เจ้าอนุวงศ์แห่งนครเวียงจันทร์คิดการกบฎ พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ โปรดให้พระยาราชสภาวดีเป็นแม่ัทัพหน้าไปปราบกบฎ เมื่อชนะศึกและจัดการบ้านเมืองทางอีสานจบสงบเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้มีตราขึ้นไปเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น เจ้าพระยาราชสุภาวดี ว่าที่สมุหนายก
ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๑ หลังจากเป็นแม่ทัพไปรบกับญวนและเขมรจนได้รับชัยชนะมาแล้ว ท่านเกิดศรัทธาแรงกล้าประสงค์จะทำนุบำรุงพระบวรพุทธศาสนาให้เจริญสถาพรสืบไป จึงยกบ้านของท่านถวายให้เป็นวัด โดยสร้างอุโบสถศาลาการเปรียญ และกุฏิสงฆ์เพิ่มเติมขึ้นให้เป็นวัดสมบูรณ์ แล้วตั้งชื่อว่า "วัดชัยชนะสงคราม" เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะครั้งนั้น และเนื่องจากเรือนของท่านที่มีอยู่เดิมเป็นอาคารตึก ชาวบ้านทั่วไปจึงเรียกกันว่า "วัดตึก" จนทุกวันนี้
หลังจากยกบ้านถวายเป็นวัดแล้ว เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ก็ได้อุปถัมภ์บำรุงวัดนี้เรื่อยมาจนอสัญกรรม และผู้สืบสกุลสิงหเสนีได้รับช่วงอุปถัมภ์บำรุงเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ดังเช่นปรากฎในปี พ.ศ. ๒๕๐๑ คุณหญิงตุ่ม ประเสริฐสุนทราศรัย และคุณหญิงเจือ นครราชเสนี ได้ร่วมกันบริจาคเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท(สามแสนบาท) เพื่อเป็นทุนจัดการก่อสร้างอุโบสถหลังใหม่
ปี พ.ศ. ๒๕๐๒ หม่อมเสมอ สวัสดิวัตน์ มีจิตศรัทธาบริจาคเงิน ๓๕,๐๐๐ บาท (สามหมื่อนห้าพันบาท) เป็นทุนร่วมกับคณะกรรมการและพุทธศาสนิกชนจัดการหล่อพระประธานองค์ใหม่ขึ้นนาม "พระพุทธชัยสิงหมุนินทรธรรมบดินทรโลกนาถเทรนรชาติอภิปูชนีย์"
ต่อมาได้สร้างระเบียงวิหารคตไว้ทิศเหนืออุโบสถ หอกลอง หอระฆัง ด้านทิศใต้ใช้เวลาดำเนินการก่อสร้าง ๒ ปี ๘ เดือน ๑๕ วัน ค่าก่อสร้าง ๑,๒๐๐,๐๐๐ บาท(หนึ่งล้านสองแสนบาท) คุณหญิงตุ่ม ประเสริฐสุนทราศรัย และคุณหญิงเจือ นครราชเสนี พร้อมด้วยญาติและพุทธศาสนิกชนร่วมกันบริจาคเพื่อบูชาพระศาสนา
วัดชัยชนะสคราม ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาติให้ยกฐานะขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดสามัญ เมื่อวันที่ ๒๐ พฤศจิการยน คุณงามความดี และชัยชนะของท่าน ที่ตลอดชีวิตการเป็นนักรบพร้อมพลีชีพเพื่อชาติด้วยความจงรักภักดีอย่างยิ่งต่อองค์พระมหากษัตริย์ ได้ทำสงครามรักษาอาณาเขตชายแดนไทยด้านตะวันออก ลาว, เขมร, ญวน, จนเมืองสยามมีความปลอดภัยมั่นคง รวมถึงเป็นผู้ศรัทธาในบวรพุทธศาสนาเป็นอย่างสูง "บ้านตึก" ในอดีตของท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) หรือวัดชัยชนะสงคราม จึงเป็นอนุสรณ์แห่งความมี "ัชัย" โดยแท้


|