วัดชัยชนะสงคราม(วัดตึก)

  เข้าสู่ระบบ - สมัครสมาชิก

(banner2) 200963_75753.jpg

รูปหล่อเหมือนเจ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนี)

 

(banner) 200964_5088.gif

 

ประวัติเ้จ้าพระยาบดินทร์เดชา(สิงห์ สิงหเสนี)
สมุหานายกและแม่ทัพใหญ่ ในพระบาทสมเด็ดพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่  ๓

 

เจ้าพระยาบดินทร์เดชา (สิงห์) เป็นบุตรของเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) กับท่านผู้หญิงฟัก เกิดวันพุทธ เดือนยี่ แรมห้าค่ำ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๑๑ มกรคาม พ.ศ. ๒๓๒๐ ในสมัยกรุงธนบุรี ที่บ้านริมคลองรอบกรุงธนบุรี ด้านตะวันออกปัจจบันคือ บริเวณเชิงสะพานข้างโรงสี หน้ากระทรวงมหาดไทย

สืบเืชื่อสายจากสิริวัฒนพราหมณ์ราชปุโรหิต ในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ซึ่งเป็นเจ้าพระยาอภัยราชา(ปิ่น) บิดาของท่านคือบุตรเจ้าพระยามหาสมบัติ(ผล)ซึ่งเป็นหลานปู่ของท่านพราหมณ์ ได้ชื่อว่าเป็นเอกอัครมหาเสนาบดี และยอดขุนพลสำคัญอีกท่านหนึ่งของยุคต้นรัตนโกสินทร์ ท่านได้รับราชการเป็นข้าหลวงเดิมในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และโดยเสด็จในราชการสงครามสำคัญหลายครั้ง เช่น สงครามเก้าทัพ

บิดานำนายสิงห์ถวายตัวเข้ารับราชการเป็นมหาดเล็กในพระเจ้าลูกยาเธอในรัชกาลที่ ๑ ได้รับพระราชทานยศศักดิ์โดยลำดับจนเป็น "จมื่นเสมอใจราช"

ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ย้ายไปรับราชการวังหน้า เลื่อนบรรดาศักดิ์เป็น "พระนายเสมอใจราช" ต่อมาเป็น "พระพรหมสุรินทร์" และ "พระยาราชโยธา" ตามลำดับ พ.ศ. ๒๓๕๖ เป็น "ที่พระยาเกษตรรักษา" ว่าการกรมนาฝ่ายวังหน้า เป็นที่ทราบโดยทั่วไปว่า ท่านต้องโทษในขณะดำรงบรรดาศักดิ์นี้ถึงสองครั้งสองครา และได้พระบารมีของรัชกาลที่ ๓ เมื่อครั้งยังทรงพระยศเป็นพระเจ้าลูกเธอกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ช่วยผ่อนหนักเป็นเบาจนพ้นโทษออกมาช่วยราชการดังเดิม โดยให้มาช่วยแบ่งเบาพระราชกิจด้านการค้า ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะความสามารถรอบตัวของท่านโดยเฉพาะการแต่งสำเภาค้าขาย และความซื่อสัตย์อันเป็นที่ต้องพระราชหฤทัย

ดังนั้นเมื่อผลัดแผ่นดินในปี พ.ศ. ๒๓๖๗ จึงโปรดเกล้าฯให้เลื่อนชั้นขึ้นเป็น "พระยาราชสุกภาวดี" ซึ่งเป็นตำแหน่งข้าราชการผู้ใหญ่แห่งราชสำนัก

พ.ศ. ๒๓๖๙ นับว่าเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของชีวิตท่าน นำไปสู่การได้รับจารึกชื่อเป็นยอดขุนพลผู้ยิ่งใหญ่ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ตราบจนทุกวันนี้ เมื่อเกิดกบฎเจ้าอนุวงศ์ขึ้น ท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นแม่ทัพหน้าตามเสด็จกรมราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพ ซึ่งเมื่อเสร็จศึกแล้วได้กราบทูลฯ ความดีควา่มชอบของท่านว่า "ใจหาญกล้าในการทำศึกสงคราม และฝีมือเข้มแข็งองอาจสามารถ ทั้งสติปัญญาหลักแหลมพร้อมด้วยจะหาผู้อื่นใดเสมอมิได้ในทุกวันนี้" และท่านได้เลื่อนยศขึ้นเป็น "เจ้าพระยาราชสุภาวดี"

ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๗๑ ท่านได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ไปจับระเบียบเมืองเวียงจันทร์อีกครั้งหนึ่ง ในการศึกครั้งนี้กองทัพไทยถูกอุบายล่อลวงจนเกือบเพลี่ยงพล้ำและเกิดการปะทะกันอย่างประชิดตัว หากแต่ความหาญกล้าเด็ดเดี่ยวของท่านและจากการสละชีพของหลวงพิพิธ(ม่วง) น้องชายของท่านที่พุ่งเข้ารับดาบของเ้จ้าราชวงศ์เมื่อเข้าประชิดตัวท่านเจ้าพระยาฯ ได้เปลี่ยนเหตุการณ์จนทำให้ท่านรบชนะและสามารถจับเจ้าอนุวงศ์มายังพระนครได้สำเร็จ จึงได้รับโปรดเกล้าฯเลื่อนยศเป็น "เจ้าพระยาบดินทรเดชา ที่สมุหนายก" ในปีเดียวกันนั้นเอง ขณะนั้นท่านมีอายุขึ้นปีที่ ๕๓

๕ ปีต่อมา เจ้าพระยาบดินทรเดชาได้รับราชการครั้งสำคัญที่สุดอีกครั้งในการเป็นแม่ทัพใหญ่ทางบก ยกไปปราบญวนที่คอยให้ท้ายลาวและเขมรให้กระด้างกระเดื่องต่อไทยการศึกครั้งนี้ทำให้ท่านต้องตรากตรำจากบ้านเกิดเมืองนอนไปยาวนานถึง ๑๕ ปีเต็ม และทำให้ทุกคนได้ประจักษ์ถึงบุคลิกลัษณะและควา่มสามารถรอบด้าน ทั้งด้านการเป็นแม่ทัพ นักปกครอง นักบริหาร และนัการค้า ที่มีรวมอยู่ในตัวบุคคลเดียว และด้วยการยิดถือหลักการรักษาเขตแดนให้มั่นคงอย่างแท้จริง ท่านจึงไม่เพียงมุ่งแต่จะรบให้ได้ชัยชนะ แต่ได้ช่วยสร้างชาติสร้างเมืองให้กับเขมรในครั้งนั้นด้วย ผลที่ได้จึงไม่เพียงสามารถขจัดปัญหาญวนให้หมดไปโดยสิ้นเชิง แต่ได้สร้างเกียรติคุณแห่งเมืองสยามและนามของท่านได้ปรากฎอยู่ในประวัติศาสตร์ของเมืองเขมร เมื่อนักองค์ด้วง เจ้ากรุงกัมพูชา รำลึกถึงพระคุณของท่านจนโปรดให้สร้างเก๋งที่หน้าค่ายใหญ่วัดโพธาราม เมืองอุดงมีชัย ซึ่งเป็นเมืองหลวงเก่า ภายในสถิตรูปปั้นท่านเจ้าพระยาฯ ที่ปั้นโดยช่างเขมรไว้เป็นรูปเคารพเรียกขานกันว่า "รูปองค์บดินทร์" แม้ปัจจุบันจะถูกรื้อสูญสลายไปแล้ว แต่ยังคงเหลือภาพวาดท่านซึ่งมีผู้ลอกแบบไว้จากรูปปั้นที่เมืองอุดงมีชัยและมีรปปั้นลักษณะเดียวกันซึ่งปั้นโดย ช่างไทยอยู่ที่วัดจักรวรรดิราชาวาสในปัจจุบัน ซึ่งรูปปั้นและภาพวาดนี้ได้ถูกใช้เป็นต้นแบบสำหรับรูปปั้นรูปเคารพท่านเจ้าพระยาฯในเวลาต่อมา

 

(banner) 200963_79703.jpg

 

หลังเขมรเป็นปึกแผ่น และท่านได้จัดระเบียบหัวเมืองทางอีสานตลอดจนอาณาบริเวณชายแดนสยามด้านตะวันออกให้มั่่นคงปลอดภัยมากขึ้นแล้ว เ้จ้าพระยาบดินทรเดชาจึงเดินทางกลับสู่พระนครในปี พ.ศ. ๒๓๙๑ หลังจากนั้นเพียงปีเดียวท่านได้ถึงแก่อสัญกรรมด้วยโรคอหิวตกโรคซึ่งระบาดอย่างหนักในปีนั้น สิริรวมอายุได้ ๗๒ ปี พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จพระราชดำเนินพระราชทานเพลิงศพ ณ วัดสระเกศ

ผลงานด้านการปกครองในฐานะสมุหนายกของท่านนั้นมีปรากฏอยู่หลายประการ เช่น การจัดระเบียบหัวเมืองทางอีสาน เห็นชัยภูมิใดเหมาะสมก็ตั้งเป็นบ้านเป็นเมือง และตั้งเจ้าเมืองดูแลทุกสุขของราษฎร เช่น เมืองโพนพิสัย เมืองกบินทร์บุรี เมืองเรณูนคร เมืองสกลนคร เมืองอุเทน

นอกจากนี้ท่านเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) ยังได้ให้ความช่วยเหลือกชาวญวนที่มาพึ่งพระบรมณ์โพธิสมภารในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยให้มาตั้งบ้านเรื่อนบริเวณวัดกุศลสมาครวาส ซึ่งอยู่ใกล้บ้านของท่านขณะนั้น ขึ้นเป็นชุมชนวัดญวนเยวราช และได้ช่วยสืบทอดทำนุบำรุงพระพุทศาสนาฝ่ายมหายาน(อนัมนิกาย) เป็นเหตุให้คณะสงฆ์นิกายนี้ได้เจริญรุ่งเรืองในพระนคร กาญจบุรี และฉะเชิงเทราสืบมาจนทุกวันนี้

พบการบันทึกของคณะมิชชั่นนารี่ที่เข้ามาเผยแพร่คริสต์ศาสนาในเมืองไทยว่า เจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์) อนุญาติให้มิชชั่นนารีมาเช่าตึกของท่านบริเวณใกล้วัดสามปลี้มเพื่อเป็นสถานที่เผยแพร่ศาสนาในสมัยรัชกาลที่ ๓ อีกด้วย

กล่าวกันว่าราชทินนาม "บดินทรเดชา" ของท่านเ้จ้าพระยาถือเป็นพระราชทินนามพิเศษ มีความหมายสองนัย นัยหนึ่งคือหมายถึง "เดชาของพระเจ้าแผ่นดิน" ส่วนอีกความหมายถึงคือ "เดชา" ของ "บดินทร์" ซึ่งเป็นสร้อยพระนาม "เจษฎาบดินทร์" พระนามเดิมของรัชกาลที่ ๓

ทั้งนี้ความผูกพระราชหฤทัยและยกย่องที่ทรงมีต่อท่านเจ้าพระยาฯ มีปรากฏเป็นหลักฐานให้เห็นมากมาย และได้ทรงออกพระโอษฐ์ยกย่องท่านเป็น "ขุนพลแก้ว" ด้วยพระองค์เอง ดังนั้นในเวลาต่อมาเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๖ มีพระราชดำริจะพระราชทานราชทินนามให้แก่เจ้าพระยาเสนาบดีกระทรวงกลาโหมในรัชสมัยของพระองค์ จึงให้ต่อสร้อยราชทินนามเป็น "บดินทรเดชานุชิต" เพื่อคงความสำคัญของ "เจ้าพระยาบดินทรเดชา" แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ขุนพลแก้วคู่พระราชหฤทัยในรัชกาลที่ ๓ ไว้ให้มีเพียงหนึ่งเดียว

ในส่วนตัวท่านได้สร้างและบูรณปฏิสังขรณ์พระอารามหลายแห่งโดยเสด็จพระราชกุศลถวายแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสมอ พระอารามที่ท่านสร้างและบูรณปฏิสังขรณ์ เช่น

บูรณะ วัดแม่นางปลี้มซึ่งเป็นวัดใกล้บ้านท่านบิดา

บูรณะ วัดช่างทองบริเวณเกาะเรียนบ้านเดิมของท่านผู้หญิงฟัก มารดาของท่านที่มีศรัทธาสร้าง

ปฏิสังขรณ์ วัดศาลาปูน ต่อจากเจ้าพระยาอภัยราชา (ปิ่น) เนื่องจากเป็นวัดที่ท่านบิดาเคยบวชเณร

ปฏิสังขรณ์ วัดเขาดิน ปูมประวัติศาสตร์เล่าว่าเป็นบ้านพราหมณ์พระมหาราชครู ซึ่งเป็นเทวดาของท่านยกให้สร้างเป็นวัด และท่านได้เคยผ่านมาพักทัพบริเวณนี้อยู่บ่อยครั้ง เพราะเป็นชัยภูมิอันดีคืออยู่บนเนินสูงอันเป็นที่มาของชื่อวัด

ปฏิสังขรณ์ วัดจักรวรรดิราชาวาส หรือวัดสามปลื้ม วัดนี้ได้ชื่อว่าเป็นวัดประจำตระกูลสิงหเสนี เนื่องจากท่านได้บูรณะต่อจากบิดาซึ่งเคยได้เริ่มปฏิสังขรณ์มาตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ และท่านได้สร้างถาวรวัตถุสำคัญจำนวนมากในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๖๑ - ๒๓๗๒ และที่วัดนี้มีรูปปั้นท่านเจ้าพระยาฯ ที่ถ่ายแบบมาจากเขมรประดิษฐานอยู่ในเก๋งระหว่างบ่อจระเข้กับพระปรางค์

สร้าง วัดชัยชนะสงคราม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า วัดตึก อยู่บริเวณตรงข้ามเวิ้งนาครเขษม เนื่องจากท่านยกบ้านเดิมซึ่งมีลักษณะเป็นตึกให้เป็นที่วัด เพื่อเป็นอนุสรณ์ครั้งเมื่อได้รับชัยชนะในการศึกญวนและเขมร

สร้าง วัดปรินายก หรือวัดพรหมสุรินทร์ บริเวณผ่านฟ้า วัดนี้ท่านได้เริ่มสร้างตั้งแต่ยังคงมีบรรดาศักดิ์เป็นพระพรหมสุรินทร์ เดิมสร้างเป็นเพียงวัดเล็กๆ แต่เมื่อได้เลื่อนขั้นเป็นเจ้าพระยาบดินทรเดชา จึงได้บูรณะต่อให้ใหญ่ขึ้น แต่ยังไม่ทันแล้วเสร็จท่านก็ได้ถึงแก่อสัญกรรมเสียก่อน รัชกาลที่ ๓ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับวัดนี้ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์พร้อมทั้งสถาปนาเป็นพระอารามหลวง และให้สร้างต่อจนเสร็จเพื่อสนองศรัทธาท่านเจ้าพระยาฯ แล้วพระราชทานนาม "ปรินายก" เป็นอนุสรณ์แก่ท่านที่อสัญกรรมในตำแหน่งสมุหนายก

สร้าง วัดทุ่งสว่างชัยภูมิ จังหวัดยโสธร เดิมเป็นที่ชุมนุมพลของทุกทัพ เมื่อมีสงครามทางอีสานเพราะมีชัยภูมิเหมาะสม ท่านได้สร้างวัดขึ้นหลังจากจับเจ้าอนุวงศ์มาถวายได้แล้ว และให้ชื่อว่าวัดชัยชนะสงคราม

สร้าง วัดหลวงบดินทร อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดสระแก้ว บริเวณนี้เดิมเป็นที่รวมพล ท่านได้เร่งรัดให้สร้างวัดขึ้นเพื่อใช้โบสถ์เป็นที่ถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยาก่อนยกทัพใหญ่ไปปราบญวน

สร้าง วัดตาพระยา จังหวัดสระแก้ว

สร้าง วัดพระยาท้า หรือวัดกระโดน อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดสระแก้ว

สร้าง วัดแจ้ง อำเภอเมือง จังหวัดปราจืนบุรี เพื่อประดิษฐานหลวงพ่อเพชร ซึ่งท่านได้พบอย่างอัศจรรย์กลางทุ่งไหม้ขณะเดินทัพกลับจากสงครามญวน วัดนี้ได้ชื่อตามอรุณฤกษ์เมื่อกองทัพเดินทางมาถึง ณ เวลาพอดี

สร้าง วัดโรงเกรียน อำเภอเมือง จังหวัดปราจืนบุรี บริเวณนี้เดิมเป็นที่เก็บเกวียนของกองทัพ

สร้าง วัดเทพลีลา หรือวัดตึกคลองตัน หรือวัดตึูก กรุงเทพฯ เนื่องจากเืมื่อครั้งยกทัพใหญ่ไปทำสงครามญวน ขณะพักริมคลองแสนแสบที่ท่านให้ขุดขึ้นเพื่อการขนส่ง และปลูกข้าวเป็นเสบียงทัพ ไพร่พลดำน้ำพบพระพุทธรูปยืนปางลีลา ท่านจึงให้อัญเชิญพักไว้แล้วเดินทัพต่อไป ภายหลังจึงสร้างวัดขึ้นและอัญเิชิญพระพุทธรูปนั้นเป็นองค์ประธาน ตั้งชื่อว่าวัดเทพลีลา ภายหลังพระประธานองค์เดิมได้ถูกโจรกรรมไป ปัจจุบันประดิษฐานองค์ใหม่ที่ทำขึ้นเลียนองค์เดิม

นอกเหนือจากการสร้างวัด เจ้าพระยาบดินทรเดชายังได้อัญเชิญพระพุทธรูปสำคัญหลายองค์ที่ได้จากแคว้นที่ไปทำสงครามกลับมาถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว และได้กลายเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองที่เป็นที่เคารพสักการะอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน เช่น พระสุรภีพุทธพิมพ์ วัดปรินายกวรวิหาร พระแซกดำ วัดคฤหบดี พระฉันสมอ วัดอัปสรสวรรค์วรวิหาร เป็นต้น

(banner) 200964_5163.gif

 

Advertising Zone    Close
 
Online:  1
Visits:  181,583
Today:  15
PageView/Month:  924

ยังไม่ได้ลงทะเบียน

เว็บไซต์นี้ยังไม่ได้ลงทะเบียนยืนยันการเป็นเจ้าของเว็บไซต์กับ Siam2Web.com